ผลของการติดตามให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ต่อคุณภาพชีวิตและอัตราการเลิกสูบบุหรี่ (Effects of Follow-up Support Calls on Quality of Life and Quit Rate among Smokers calling Thailand National Quitline)

รศ. ดร.จินตนา ยูนิพันธุ์
ผศ. ดร.สุนิดา ปรีชาวงษ์
ดร.สุวิมล โรจนาวี
น.ต.หญิง อรวรรณ ฆ้องต้อ
พ.ต.หญิง นัยนา วงศ์สายตา
ร.อ.หญิง จิรภิญญา คำรัตน์

บทคัดย่อ                                                               

การให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางและมีหลักฐานทางวิชาการว่าเป็นวิธีการช่วยให้เลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นวิธีที่สะดวก เข้าถึงได้ง่าย ประหยัด ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม เช่น ผู้พิการ หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนที่ห่างไกลสถานบริการ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง หรือรอรับบริการในคลินิก (Zhu & Anderson, 2000) และจากการศึกษายังพบอีกว่าผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ชอบรูปแบบการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์มากกว่าการพูดคุยแบบเห็นหน้าตัวต่อตัวกับผู้ให้คำปรึกษา (Face-to-face program) (McAfee,  Sofian, Wilson & Hindmarsh,1998; Zhu & Anderson, 2000)        การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งศึกษาผลของการติดตามให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ต่ออัตราความพยายามเลิกบุหรี่ อัตราการเลิกบุหรี่ต่อเนื่องที่ระยะเวลา 7 วัน, 30 วัน, 3, และ 6 เดือน           ความพึงพอใจในบริการ และคุณภาพชีวิตของผู้สูบบุหรี่ที่มาใช้บริการเลิกบุหรี่ของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ในช่วงตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ถึง 31 กรกฎาคม 2556  โดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลบริการของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติร่วมกับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงเดือน สิงหาคม ถึง พฤศจิกายน 2557  โดยใช้แบบบันทึกและแบบสัมภาษณ์จำนวน 4 ชุด คือ 1) แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปและคัดกรองการสูบบุหรี่ เป็นบันทึกข้อมูลจากฐานข้อมูล 2) แบบสัมภาษณ์การเลิกบุหรี่ เป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ค่าความตรงของเนื้อหา (S-CVI) 1.00 ค่าความเที่ยง (Cronbanch’s alpha) 0.93  3) แบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจในการบริการ ผู้วิจัยดัดแปลงมาจาก ชนะภัย อดิเรกศิวกุล (2553)  ค่าความตรงของเนื้อหา (S-CVI)  0.71 ค่าความเที่ยง (Cronbanch’s alpha 0.949 และ 4) แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิต (Short Form Health Survey: SF-12) (version 2)  ที่พัฒนาขึ้นโดย Ware และคณะ (ค.ศ. 1996) ค่าความตรงของเนื้อหา (S-CVI)  0.50 ค่า Covergent และ Discriminant validity satisfactory 100%

ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่ใช้บริการ ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 88.2) และร้อยละ 11.8 เป็นเพศหญิง กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 39.7 ปี (SD= 13.2) ประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 34.3)  มีอาชีพรับจ้าง รองลงมา (ร้อยละ 23.5) เป็นพนักงานบริษัทเอกชน และประมาณหนึ่งในสามของกลุ่มตัวอย่าง (ร้อยละ 31.4) มีโรคประจำตัว ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92.29) สูบบุหรี่ซิกาแรต (บุหรี่โรงงาน) มีเพียงเล็กน้อย (ร้อยละ 6.4) สูบบุหรี่มวนเอง (ยาเส้น) กลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 17 มวน (SD= 10.2) กลุ่มตัวอย่างสูบบุหรี่มานาน โดยเฉลี่ย 20.5 ปี (SD= 12.6) น  เมื่อพิจารณาระดับการติดนิโคตินโดยใช้ Heaviness of Smoking Index (HSI) พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ (ร้อยละ 63.2) มีระดับการติดนิโคตินปานกลาง และร้อยละ 15.9 ติดนิโคตินในระดับต่ำ

ความพยายามเลิกบุหรี่อย่างน้อย 24 ชั่วโมง ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 7 วัน พบว่า ส่วนใหญ่เคยพยายามเลิกบุหรี่ (ร้อยละ 78.9) มีเพียงร้อยละ 21.1 ที่ไม่เคยพยายามเลิกบุหรี่

อัตราการเลิกบุหรี่ต่อต่อเนื่องกัน 6 เดือน พบว่า ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างสามารถหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องกัน 6 เดือน (ร้อยละ 51.5) และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48.5 ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 6 เดือน คิดเป็นอัตราการเลิกบุหรี่ต่อเนื่องกัน 6 เดือน เท่ากับ 0.51

กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจในภาพรวมเรื่องการบริการเลิกบุหรี่ที่ได้รับจากศูนย์ฯ ในระดับมากที่สุดโดยคิดคะแนนเฉลี่ยเป็น 4.7 (SD = 0.5)  โดยมีความพึงพอใจต่อการใช้ถ้อยคำ/วาจา ในการให้คำปรึกษาและให้ข้อมูลของผู้ให้คำปรึกษามากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 4.9 (SD = 0.4)

กลุ่มตัวอย่างที่สามารถหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 เดือน และ 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยคุณภาพชีวิตทั้งมิติด้านร่างกายและมิติด้านจิตใจสูงกว่าผู้ที่ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

ตัวแปรที่สามารถทำนายการหยุดสูบบุหรี่ต่อเนื่อง 6 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ความมั่นใจในการเลิกบุหรี่ (OR = 1.447, 95% CI = 1.173-1.785) และจำนวนครั้งในการโทรติดตาม (OR = 1.391, 95% CI = 1.122-1.724)

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th