บุหรี่กับ (สุขภาพจิต) วัยรุ่น

โดย น.ต.หญิง อรวรรณ ฆ้องต้อ

     วัยรุ่น หมายถึง บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 13-19 ปี วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโต และพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ระบบอวัยวะต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง อารมณ์รุนแรงและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ช่วงวัยรุ่นถือเป็นระยะของการเปลี่ยนแปลงที่มากที่สุดในชีวิตระยะหนึ่ง ทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ จิตสังคม และพฤติกรรม วัยรุ่นเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพจิตได้มากที่สุดวัยหนึ่ง ซึ่งแสดงออกเป็นปัญหาพฤติกรรมได้หลายประการ เช่น ดื้อ ไม่เชื่อฟัง ละเมิดกฎเกณฑ์กติกาต่าง ๆ มีเพศสัมพันธ์ ไม่เรียนหนังสือ ติดเกมส์ ใช้ยาเสพติด ทำผิดกฎหมาย เป็นต้น ปัญหาพฤติกรรมบางอย่างมักเกิดขึ้นมานาน จนทำให้การแก้มักทำได้ยาก การป้องกันปัญหาจึงมีความจำเป็น และสำคัญมากกว่าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว

    ช่วงชีวิตวัยรุ่นควรจะเป็นช่วงที่มีสุขภาพดี แต่ในปัจจุบันวัยรุ่นไทยกลับเสียชีวิตและเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ มากมาย เช่น อุบัติเหตุ ความรุนแรงต่าง ๆ สารเสพติด การตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ โรคจากบุหรี่ และ AIDS ซึ่งนับแต่จะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ

    การเสพสิ่งเสพติด โดยเฉพาะบุหรี่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน การสูบบุหรี่นั้นพบว่าเด็กวัยรุ่นทั้งเพศหญิงและเพศชายสูบบุหรี่ทั้งสองเพศ แต่เด็กวัยรุ่นชายมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่สูงกว่าเด็กวัยรุ่นหญิง จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2534-2552 พบว่าผู้หญิงที่เป็นวัยรุ่นสูบบุหรี่มากกว่าทั่วไป คือ หญิงวัยรุ่นสูบบุหรี่ร้อยละ 3.8 ในขณะที่หญิงทั่วไปสูบบุหรี่เฉลี่ยร้อยละ 2.01 ดังนั้นจึงเป็นที่มาของธุรกิจยาสูบที่หันมามุ่งเน้นตลาดวัยรุ่นเยาวชนหญิง จากการสำรวจล่าสุด ของสำนังงานสถิติแห่งชาติ พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่เกือบ 5 แสนคน และเยาวชนอายุ 18-24 ปี ติดบุหรี่กว่า 1 ล้านห้าแสนคน 

    วัยรุ่นติดบุหรี่ด้วยสาเหตุต่างๆ หลายอย่าง ส่วนใหญ่เพราะความอยากลอง และค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง ยึดติดกลุ่มเพื่อน เยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่เพราะความอยากลอง ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยากลองเป็นเรื่องที่ท้าทาย น่าตื่นเต้น และสนุกสนาน ถึงแม้จะทราบว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพก็ตามอย่างเพื่อน เยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่เพราะเพื่อนชวน บางคนมีเจตคติที่ว่า ถ้าไม่สูบบุหรี่จะเข้ากับเพื่อไม่ได้ เพื่อนจะไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม บางคนสูบบุหรี่โดยเข้าใจว่าจะทำให้เข้าสังคมกับเพื่อนๆ ได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ไม่เขิน และหลายคนไม่กล้าเลิกสูบบุหรี่ เพราะกลัวเพื่อนจะล้อเลียน มีงานวิจัยพบว่า กลุ่มเพื่อนมีอิทธิพลอย่างมากในการสูบบุหรี่ ปัจจัยต่อมาคือ สภาพแวดล้อมโดยเฉพาะคนในครอบครัวสูบบุหรี่ จะเป็นสิ่งที่ทำให้วัยรุ่นผู้นั้นมีโอกาสสูบบุหรี่ได้มาก งานวิจัยพบว่า ถ้าบิดามารดาสูบบุหรี่ จะทำให้ลูกมีแนวโน้มในการสูบบุหรี่สูงถึง 3 เท่า ความสัมพันธ์และสัมพันธภาพภายในครอบครัวก็ส่งผลให้วัยรุ่นสูบบุหรี่ได้ ปัจจัยส่วนบุคคล เช่น มีปัญหาสุขภาพจิต โรคซึมเศร้า เครียดง่าย (โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิง) บางคนก็สูบบุหรี่เพื่อระบายความเครียด จากปัญหาที่บ้านหรือที่โรงเรียน หรือเรื่องแฟน มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ขาดทักษะด้านการเรียน ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ สวยวัยรุ่นจะเข้าใจว่าการสูบบุหรี่จะทำให้สามารถลด 

    น้ำหนักลงได้ง่ายขึ้น เพราะทั้งมือและปากไม่ว่างที่จะทานอาหารได้ มีบุคลิกภาพแบบต่อต้าน มีหลายครอบครัวที่ไม่พบว่ามีใครในบ้านสูบบุหรี่เลย แต่มีเฉพาะลูกคนที่เป็นวัยรุ่นสูบ เพราะวัยรุ่นหลายรายเลือกการสูบบุหรี่เป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านพ่อแม่ เมื่อต้องการแสดงให้พ่อแม่เห็นว่าตนเองโตแล้ว และไม่ต้องการให้พ่อแม่มาบีบบังคับเขา เขาโตพอที่จะเลือกตัดสินใจทำอะไรๆ กับตัวเขาเอาแล้ว บางคนก็รู้สึกว่าการสูบบุหรี่ทำให้ดูเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ไม่เป็นเด็กเหมือนกัน และปัจจัยสุดท้ายคือ กระแสของสื่อโฆษณา ในปัจจุบันเยาวชนสามารถรับรู้สื่อโฆษณาบุหรี่ของต่างประเทศได้ทั้งทางหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ชนิดต่างๆ ทาง วิทยุและโทรทัศน์ นอกจากนี้กลยุทธ์ในการโฆษณาแฝงของอุตสาหกรรมบุหรี่ที่หลีกเลี่ยงกฎหมายก็มีมาก คือ การจดทะเบียน การค้าโดยใช้สัญลักษณ์ตราบุหรี่เป็นสินค้า เช่น ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องเรือน ของใช้ต่างๆ และบริษัทท่องเที่ยวการสนับสนุนต่างๆ ที่เน้นกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่น การจัดแสดงดนตรี การจัดแข่งรถในวัยรุ่น การแสดงแบบเสื้อในกลุ่มสตรี และการแจกสมุดหรือหนังสือที่มีตราบุหรี่ให้แก่เด็กเล็ก อีกทั้งยังมีการโฆษณาแฝงทางภาพยนต์ โดยให้ดาราที่เป็นที่ชื่นชอบสูบบุหรี่ และให้เห็นสัญลักษณ์ของบุหรี่นั้นด้วย การโฆษณาทุกรูปแบบจะเน้นที่ความโก้เก๋ ทันสมัย และเร้าใจ เซ็กซี่ ดึงดูดใจ ซึ่งส่งผลอย่างมากในการส่งเสริมให้สูบบุหรี่

    ปัจจุบันพบว่าบุหรี่มีอิทธิพลมากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ จะเห็นได้จากวัยรุ่นในปัจจุบันนี้มีความเครียดในการปรับตัวมากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว วัยรุ่นที่มีปัญหาด้านการเรียนและปัญหาทางด้านครอบครัว บางคนก็สูบบุหรี่เพื่อระบายความเครียด ดังนั้นวัยรุ่นส่วนใหญ่เลยหันมาสูบบุหรี่มากขึ้น

    อย่างที่ทราบกันดีแล้วว่า บุหรี่นั้นมีผลต่อสุขภาพร่างกาย ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย ไอ หายใจไม่สะดวก ระคายคอ เสียงแหบ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น และเป็นโรคในระบบทางเดินหายใจ ฟันและเสื้อผ้ามีสีน้ำตาล เล่นกีฬาหรือใช้แรงได้น้อยลง

    ด้านสุขภาพจิตนั้น วัยรุ่นบางคนมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก่อนแล้วมาสูบบุหรี่ เช่น เครียดง่าย มีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ ขาดทักษะด้านการเรียน มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม ก็เลยหันมาใช้บุหรี่เป็นที่พึ่ง แต่ในวัยรุ่นบางคน เมื่อสูบบุหรี่แล้วทำให้เกิดผลต่อสุขภาพจิตตามมาได้ ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยใหม่ๆ จะเริ่มสนใจ ผลของบุหรี่ต่อสุขภาพจิยของวัยรุ่น เช่น การวิจัยในต่างประเทศพบว่า การสูบบุหรี่เรื้อรังในวัยรุ่นอาจจะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความวิตกกังวล ผลการสำรวจพบว่า 31 % ของวัยรุ่นสูบบุหรี่ 20 มวน/วัน หรือมากกว่านี้ จะมีบุคลิกภาพแบบวิตกกังวล และอาจได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติด้านอารมณ์ มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม และมีการใช้สารเสพติดชนิดอื่นตามมาในที่สุด

    จากการวิจัยของสถาบันสุขภาพจิตในต่างประเทศ ทำการศึกษาเปรียบเทียบระดับไอคิว (IQ.) ของกลุ่มวัยรุ่นชายที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ พบว่ากลุ่มที่สูบุหรี่มีไอคิวต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณ 7 คะแนน

    โดยเฉลี่ย การวิจัยนี้แสงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่และระดับไอคิวต่ำ นอกจากนี้ยังมีการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ความจำและความคิดของวัยรุ่นบกพร่อง โดยได้ทำการทดลองในกลุ่มวัยรุ่นที่สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ พบว่า ในกลุ่มวัยรุ่นที่สูบบุหรี่จะมีความบกพร่องในด้านทักษะความแม่นยำในการจดจำสิ่งต่างๆ มากกว่ากลุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการเลิกบุหรี่ในกลุ่มวัยรุ่น

    จากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า สังคมไม่ควรจะมองข้ามปัญหาการสูบบุหรี่ของวัยรุ่น เพราะจากสถิติการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น และบุหรี่ไม่ได้เป็นมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกายเพียงอย่างเดียว ยังมีผลต่อสุขภาพจิต นอกจากนี้การสูบบุหรี่ในวัยรุ่นยังก่อให้เกิดพฤติการรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ ตามมาได้อีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเสพยาเสพติด ดังนั้น การป้องกันการก้าวเข้าสู่วงจรการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่สำคัญคือการป้องกันอย่าให้ลูกเริ่มลองสูบบุหรี่ ซึ่งได้แก่ การที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่เป็นตัวอย่างในการสูบบุหรี่ให้ลูกเห็นพยายามให้ลูก พยายามให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากบุหรี่หาสิ่งอื่นๆ ทำ เช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอ หางานอดิเรก เป็นต้น ที่จะทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองมีค่า และมีสิ่งที่ภาคภูมิใจในตนเองได้ พยายามให้เวลาแก่ลูกในการพูดคุยเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อให้เขาได้ระบายความเครียดหรือให้มุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมกับเขา พยายามชี้ให้เขาเห็นถึงสิ่งดีๆ อื่นๆ ที่เขาทำได้โดยไม่ต้องเพิ่งบุหรี่ และข้อเสียของการติดบุหรี่ รู้จักเลือกคบเพื่อนที่ไม่สูบบุหรี่ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลกจะติดบุหรี่ได้

    ส่วนการปฎิบัติตัวของวัยรุ่นเองนั้น การที่จะเป็นผู้มีสุขภาพจิตที่ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาบุหรี่ เกิดจากการมีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข เรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพที่ตนเองมี วัยรุ่นจึงควรหาเอกลักษณ์ของตนเอง รู้จักตนเองว่าเป็นคนอย่างไร มีความชอบความถนัดอะไรบ้าง มี จัดเด่นจุดด้อยอะไร อยากเรียนไปทางไหน อยากทำอาชีพใด รวมถึงเอกลักษณ์ทางเทศด้วย ควรเรียนรู้และหาวิธีที่จะทำให้ตนเองมีความสุขและสนุกกับการดำเนินชิวิต หางานหรือกิจกรรมที่จะให้เกิดความพึงพอใจ ทำในสิ่งที่ตนเองชอบหรือมีความถนัด สามารถทำได้ดี จนประสบผลสำเร็จ เมื่อทำแล้วเกิดความสุข เกิดแรงจูงใจที่จะทำอีก เมื่อวัยรุ่นมีวงจรชีวิตที่มีความสุข มักจะไม่เข้าหาบุหรี่หรือยาเสพติด

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th