รายงานล่าสุดของนายแพทย์ใหญ่ กระทรวงสาธารณสุข สหรัฐอเมริกา “การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร”

Dr. Regina M. Benjamin นายแพทย์ใหญ่ สหรัฐอเมริกาได้เปิดเผยถึงรายงาน “How tobacco smoke causes diseases: The biology and behavioral basis for smoking-attributable disease" ซึ่งเป็นรายงานฉบับล่าสุด เกี่ยวกับการสูบบุหรี่กับสุขภาพตั้งแต่รายงานฉบับแรกในปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) อันมีสาระสำคัญดังนี้

การสูบบุหรี่เป็นครั้งคราวหรือการได้รับควันบุหรื่มือสองต่างทำลายอวัยวะของผู้ที่ได้รับควันบุหรี่และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายที่ถึงแก่ชีวิตทั้งสิ้น การได้รับควันบุหรี่ไม่ว่าเป็นปริมาณมากหรือน้อยล้วนเป็นอันตรายเนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่จะเข้าสู่อวัยวะในร่างกายอย่างรวดเร็วทุกครั้งที่ผู้สูบสูดควันบุหรี่เข้าไป 

มีรายงานยืนยันว่าควันบุหรี่มีอันตรายอย่างร้ายแรง ผู้สูบบุหรี่เพื่อการผ่อนคลายเป็นครั้งคราวมักคิดว่าสามารถฟื้นฟูสุขภาพกลับมาได้ในช่วงที่ไม่ได้สูบ ความจริงแล้ว ไม่มีการสูบบุหรี่แบบใดที่ปลอดภัยเลย ควันบุหรี่ทำร้าย DNA และส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดของทุกคนที่สูดหายใจเข้าไปในทันที การได้รับควันบุหรี่มือสองมีอันตรายไม่น้อยไปกว่าการสูบบุหรี่ด้วยตนเองเนื่องจากควันบุหรี่เผาไหม้และทำความระคายเคืองให้กับหลอดเลือดรวมทั้งทำให้เกิดภาวะเส้นเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการหัวใจวาย ความเสี่ยงที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เพียงแต่เดินเข้าไปในบาร์ที่มีควันบุหรี่

ควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด หลายร้อยชนิดเป็นอันตราย อย่างน้อย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง จากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่า 85% เป็นผู้สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นอีก อาทิ กระเพาะอาหาร ไต กระเพาะปัสสาวะ ควันบุหรี่ยังเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจ และโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด อาทิ เส้นเลือดอุดตัน โรคเรื้อรังจำนวนมากเกิดจากการสูบบุหรี่ อาทิ โรคปริทนต์ โรคปอดอักเสบ โรคหอบหืด โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ อาทิ การเป็นหมัน การให้กำเนิดทารกที่มีน้ำหนักตัวต่ำ เด็กที่ได้รับควันบุหรี่ได้รับความทรมานจากการติดเชื้อในหูส่วนกลาง การทำงานของปอดผิดปกติ และการเสียชีวิตเฉียบพลันในวัยทารก

 ผลิตภัณฑ์บุหรี่ในปัจจุบันถูกออกแบบให้ดึงดูดใจผู้สูบมากขึ้นและเสพติดง่ายขึ้นเนื่องจากสามารถส่งนิโคตินเข้าสู่ร่างกายได้รวดเร็ว ซึ่งทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น ตัวอย่างเช่น สารบางชนิด อาทิ แอมโมเนีย ถูกพบในบุหรี่ที่วางขายทุกวันนี้ แอมโมเนียสามารถแปรสภาพนิโคตินทำให้เข้าสู่เส้นเลือดในสมองได้เร็วขึ้น สารเพิ่มความชุ่มชื้นและน้ำตาลถูกผสมในบุหรี่เพื่อลดการระคายเคืองของควันและทำให้บุหรี่มีรสชาติดีขึ้น ส่งผลให้ผู้สูบทนต่อควันบุหรี่ได้นานขึ้นและสูดอัดควันเข้าปอดลึกมากขึ้น

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาผู้ผลิตบุหรี่พยายามคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้บุหรี่ปลอดภัยขึ้น อาทิ “ก้นกรองบุหรี่” หรือ “บุหรี่ชนิดอ่อน” ทว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ได้ลดความเสี่ยงทั้งมวลที่มีต่อผู้บริโภคลงได้ “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดทำให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่มีอันตรายน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม นับว่ายังมีความคืบหน้าในการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคอยู่บ้าง ตามที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบมากขึ้น โดยล่าสุดได้ประกาศให้ติดป้ายเตือนถึงอันตรายของบุหรี่บนซองบุหรี่ทั้งหมดแล้ว 

เป็นที่รู้กันว่าบุหรี่คร่าชีวิตคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 440,000 รายต่อปี จึงถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง การเลิกสูบบุหรี่เปิดโอกาสให้ร่างกายได้เยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการเลิกสูบบุหรี่ แต่ยิ่งสามารถเลิกได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

ที่มา: “Surgeon General report: Tobacco smoke does immediate damage” CNN Health December 9, 2010

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th