Logo
 
Quitline
  • เลิกบุหรี่เชิญทางนี้
  • เกี่ยวกับเรา
    ความเป็นมา หลักการ วิสัยทัศน์ บริการ ติดต่อเรา งานวิจัย บทความ รายงานประจำปี กิจกรรมของเรา
  • บริการ
    U QUIT U REFER U CAN คู่มือเลิกบุหรี่
  • ข้อมูลข่าวสาร
    ข่าวจากผู้บริหาร รายงานประจำปี คู่มือเลิกบุหรี่ งานวิจัย บทความ การรณรงค์เลิกบุหรี่ จากใจให้คุณ ประกาศ

พลังสูงวัย ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ

2022-04-22 03:31:28
Tweet

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

พลังสูงวัย ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ

            กระแสเรื่องการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย เริ่มเป็นที่ยอมรับและรับรู้กันในวงกว้าง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมแผนรับมือไว้ล่วงหน้า ก็อาจกลายเป็นวิกฤติปัญหาของสังคม โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามชุมชนท้องถิ่นห่างไกล

            นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   ได้นำคณะผู้บริหาร จากสำนักงานผู้ตรวจการแผนดิน (สผผ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน พร้อมถอดบทเรียนระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ณ เทศบาลตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ และองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

            “เราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งในปี 2565 เรียกได้ว่าเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสมบูรณ์ หรือมีผู้สูงอายุร้อยละ 20 และกำลังก้าวสู่ขั้นสูงสุด คาดว่าปี 2576 อาจจะมีถึงร้อยละ 28 ซึ่งหากไม่มีแผนรองรับก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตได้” เป็นความเห็นของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

            ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ที่ตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ และ อบต.ดอนแก้ว จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ที่เผชิญปัญหาสังคมสูงวัยก่อนที่อื่น ๆ  โดยพบว่ามีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 30 ดังนั้น ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้ ยังเป็นกลุ่มที่มีพลัง ไม่เป็นปัญหา ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้สูงอายุ ยังมีสุขภาพร่างกายอยู่ในระดับที่ไปไหนมาไหนได้ มีกลุ่มผู้ป่วยที่ติดบ้าน ติดเตียง อยู่แค่ร้อยละ 1 เท่านั้น ประมาณ 10 กว่าคน ซึ่งทางเทศบาลได้ร่วมกับชุมชนพัฒนาระบบต่าง ๆ ที่เข้ามาดูแลตั้งแต่เรื่องของอาหาร อารมณ์ และการส่งเสริมอาชีพ

            “ในการทำงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ไม่ได้แปลว่าเราทำงานกับคนที่สูงอายุแล้วเท่านั้น เรามีการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุในเรื่องของสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ถ้าให้ดีต้องเตรียมการก่อนเกษียณ ก่อนสูงอายุ เช่น ให้มีการออมที่ดีพอ มีการศึกษาเรียนรู้ให้เท่าทันโลก มีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นเมื่อร่างกายไม่พร้อม หรือเรื่องสุขภาพที่ต้องดูแลสร้างเสริมให้แข็งแรง ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุขั้นต้นตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ก็ได้ถูกชักชวนให้เข้ามาร่วมขบวนอยู่ในการช่วยเหลือผู้ที่สูงอายุกว่า และขณะเดียวกันก็เป็นการเตรียมความพร้อมของวัยก่อนจะสูงอายุไปในตัวด้วย” ดร.สุปรีดา กล่าว

          ขณะที่ นางลัดดา ไชยชนะ นายกเทศมนตรีตำบลสองแคว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า ตำบลสองแคว ถือเป็นสังคมผู้สูงอายุ  โดยพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ และไม่มีเงินออม  จึงได้พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อช่วยในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ เช่น บริการรถรับส่ง 24 ชั่วโมงเวลาเจ็บป่วย กองทุนวันละบาท เพื่อดูแลยามเจ็บป่วย รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยด้านอื่น ๆ  เช่น ปรับปรุงห้องน้ำ ซ่อมแซมบ้าน นอกจากนี้ ยังมีกองทุนจากสถาบันการเงินชุมชนบ้านสามหลัง เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้

            “ผู้สูงอายุที่นี่ไม่เป็นภาระชุมชนเลย เพราะสามารถเป็นทั้งผู้รับความช่วยเหลือ ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ให้ชุมชนด้วย เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยคัดแยกขยะ การเป็นวิทยาถ่ายทอดความรู้ ภูมิปัญญาต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นหลัง” นางลัดดา กล่าว

            นายธวัชชัย ฟักอังกูร ประธานกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. เล่าเสริมว่า ทั้งสองพื้นที่มีพลังของชุมชนที่มีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะเป็นแบบอย่างให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งอื่น ๆ ใช้เป็นแนวทางได้ โดย สสส. มีพื้นที่ส่งเสริมเช่นนี้อีกประมาณ 5 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งก็จะสร้างเครือข่ายของตนเองไม่ต่ำกว่า 4-5 แห่ง รวมทั้งหมดภายใน 2 ปีนี้ เราจะมีองค์กรที่ถือว่าเป็นต้นแบบของการดูแลผู้สูงอายุ และพร้อมที่จะขยายผลไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

            ขณะที่ พ่อตั๋น ใจสุข อายุ 75 ปี ผู้สูงอายุในเทศบาลตำบลสองแคว เล่าว่า ผู้สูงอายุในพื้นที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำงานจักสาน ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว แบ่งเบาภาระลูกหลาน และรู้สึกว่ามีความสุขมากที่ได้มารวมตัวทำกิจกรรมได้พบปะกัน ได้พูดคุยหัวเราะกัน ช่วยทำให้ผู้สูงอายุไม่เครียด ไม่เป็นซึมเศร้า รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง สุขภาพก็ดี ไม่เป็นภาระของชุมชน

            สำหรับการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน สามารถปฏิบัติตามหลัก 5อ. 5ก. เพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

          โดยหลัก 5 อ. ประกอบด้วย

            1. การส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ

            2. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

            3. การส่งเสริมการออกกำลังกายผู้สูงอายุ

            4. การออมเพื่อผู้สูงอายุ

            5. ฝึกอบรมอาสาสมัครและอาสาสมัครเยี่ยมบ้าน

          ส่วน 5 ก.หมายถึง 5 กลไก ประกอบด้วย

            1. การป้องกันและลดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ

            2. การตั้งและพัฒนาโรงเรียนผู้สูงอายุ

            3. การพัฒนาชมรมผู้สูงอายุ

            4. การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน

            5. การบริการกายอุปกรณ์

            หากลองปรับเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อผู้สูงอายุเสียใหม่ ไม่มองว่าผู้สูงอายุอ่อนแอ ต้องรอรับความช่วยเหลือ แต่ผู้สูงอายุ คือ กลุ่มคนที่ยังมีศักยภาพ มีความสามารถในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งหากได้รับการส่งเสริม พัฒนา ก็จะเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนได้

          นอกจากนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ยังได้ร่วมกันพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์ “หลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัล” ให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดี โดยผู้สนใจสามารถสมัครเข้าเรียนได้ที่เว็บไซต์ www.thaismartageing.org

1650573370521.jpg

1650573378295.jpg

1650573382663.jpg

1650573386979.jpg

1650573391586.jpg

1650573395581.jpg

1650573399855.jpg

1650573403723.jpg

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
เปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ส่วนงานการ ให้คำปรึกษา
 
เรื่องน่าสนใจ
สูบบุหรี่มือสอง
น้องเก๋
ยื่นหนังสือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการยกเลิกการเก็บภาษีเฉพาะ (Earmarked tax หรือ Sin tax)
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติส่งบุคลากร ร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาสื่อด้านการควบคุมยาสูบ"
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th