บุหรี่กับรายได้และรายจ่ายเพื่อการรักษา

ดร.สุชาดา เรืองรัตนอัมพร
นักวิชาการศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ

บุหรี่อยู่กับสังคมไทยมานานและอาจนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ในอดีต “หมากพลู บุหรี่” ถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในของเซ่นไหว้ ของถวายพระและใช้รับรองแขกที่มาเยี่ยม ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๒ ในยุค "วัธนธัม" รัฐบาลมีนโยบายปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าทันอารยประเทศ จึงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหลายเรื่องรวมทั้งห้ามกินหมาก และมีนโยบายให้อุตสาหกรรมยาสูบดำเนินงานโดยรัฐบาล มีการรวบรวมซื้อโรงงานผลิตบุหรี่และตั้งเป็นโรงงานยาสูบ ตลอด ๗๖ ปีที่ผ่านมา “หมากพลู” เลือนหายไปจากสังคมแต่ยังคงบทบาทในทางพิธีกรรม ซึ่งต่างจาก “บุหรี่” ที่มีพื้นที่ชัดเจนและนับวันจะอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยพบว่าปัจจุบันมีการเพิ่มปริมาณการผลิตบุหรี่ภายในประเทศ การสั่งบุหรี่นำเข้าจากต่างประเทศ การส่งเสริมด้านการตลาด และการปรับปรุงรสชาติของบุหรี่ให้มีความหลากหลายเพื่อเพิ่มตัวเลือกให้ผู้บริโภค

แม้หลักฐานเชิงประจักษ์จะแสดงว่า “บุหรี่” เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพและโรคเรื้อรังต่างๆ แต่หลายประเทศทั่วโลกยังพบประชาชนมีปัญหาสุขภาพ เป็นโรคไม่ติดต่อซึ่งมีสาเหตุมาจาก “บุหรี่” และพบด้วยว่าอัตราการป่วยดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การผลิตและการจำหน่าย “บุหรี่” สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมหาศาล จากรายงานประจำปี ๒๕๕๖ ของโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ระบุว่าโรงงานยาสูบมีรายได้ ๗๐,๑๘๓.๓๙ ล้านบาท โดยมีการลงทุน ๑,๕๑๑.๑๙ ล้านบาท มีกำไรสุทธิ ๗,๔๘๐.๙๓ ล้านบาท และมีเงินนำส่งรัฐจำนวน ๖๑,๗๔๘.๗๑ ล้านบาท (1) ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำให้บุหรี่ถูกสั่งห้ามเช่นเดียวกับ “หมากพลู” จึงไม่ใช่เรื่องง่าย

จากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ในการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๓ เรื่อง “ภาษีบุหรี่ ลดคนสูบ ลดคนตาย”  นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่ากับ ๕๒.๒ พันล้านบาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทางตรง ๑๐,๑๓๗ ล้านบาท และทางอ้อม ๑,๐๖๓ ล้านบาท ค่าสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานของผู้ป่วย ๓๗๐ ล้านบาท และจากการขาดงานของผู้ดูแลผู้ป่วย ๑๔๗ ล้านบาท ค่าสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควรคิดเป็นร้อยละ ๗๗ ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดและร้อยละ ๗๓ ของงบประมาณด้านสาธารณสุข (2)

ดังนั้นเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากการป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่มีสาเหตุจาก “บุหรี่” และป้องกันการสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ดังกล่าว การจำกัดการเข้าถึงบุหรี่จึงอาจเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

  1. รายงานประจำปี 2556 โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง http://www.thaitobacco.or.th/thai/wp-content/uploads/2014/09/Annual-Report-2013.pdf%20

  2. ผู้จัดการ Online คุณภาพชีวิต http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000085858
หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th