ก้าวต่อไปของชีวิต ก่อนโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนา “เสียงจากชุมชนและคนงาน ก่อนสงกรานต์และโควิดเป็นโรคประจำถิ่น”

 

ก้าวต่อไปของชีวิต ก่อนโควิดเป็นโรคประจำถิ่น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ ทำให้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ทุกคนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ โควิด-19 มาอย่างยาวนาน เรียนรู้ ปรับตัว หาวิธีป้องกัน และอยู่กับมันให้ได้ จนถึงวันนี้ แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะยังค่อนข้างสูง การแพร่ระบาดของเชื้อยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และดูไม่มีทีท่าว่าจะหายไปในเร็ว ๆ นี้ แต่ถึงอย่างนั้น เราก็คงต้องใช้ชีวิตกันต่อไป อีกทั้งในส่วนของภาคเศรษฐกิจ และสังคม ก็จะต้องเร่งฟื้นฟู และขับเคลื่อนไปต่อให้ได้

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนา “เสียงจากชุมชนและคนงาน ก่อนสงกรานต์และโควิดเป็นโรคประจำถิ่น” โดยความร่วมมือของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว เครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิทธิทางสุขภาพแรงงาน เพื่อเตรียมรับมือหากมีการปรับมาตรการให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวถึงการเตรียมตัวรับมือหากโควิด-19  ถูกปลดออกจากโรคติดต่อร้ายแรงกลายเป็นโรคประจำถิ่นว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะทำให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 และถอนสถานะของการเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมประกาศและปรับมาตรการต่าง ๆ โดย สสส. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการปรับมาตรการครั้งนี้ด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่

ดร.สุปรีดา กล่าวต่อว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดพื้นที่นำร่องช่วยเหลือชุมชนกว่า 110 ชุมชน และร่วมมือกับโรงงาน 15 แห่ง ผ่านสหภาพแรงงาน เพื่อรับมือและป้องกันโควิด-19 เช่น การทำธนาคาร ATK เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการตรวจ จัดทำระบบครัวกลางในชุมชน เพื่อดูแลผู้ป่วยระหว่างการกักตัวในบ้านและชุมชน รวมทั้งโครงการอื่น ๆ จนสามารถดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้กว่า 500 คน และสร้างเสริมสุขภาวะคนจนเมืองได้กว่า 34 ชุมชน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“สงกรานต์กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต้องระวังทั้งในเรื่องของอุบัติเหตุและการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะมีการคาดการณ์ไว้แล้วว่าประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก และอาจมีกิจกรรมรวมกลุ่มสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้น  สสส.และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ให้เกิดการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคู่ไปกับรณรงค์การลดอุบัติเหตุ “ดื่มไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย” เพื่อป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน” ดร.สุปรีดา กล่าว

6 ข้อปฏิบัติลดเสี่ยงโควิด-19

1. ตรวจ ATK ก่อนออกเดินทา
2. สวมหน้ากากตลอดเวลา
3. เว้นระยะห่าง
4. ล้างมือบ่อย ๆ
5. อย่าลืมให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีน
6. งดตั้งวงเหล้า – พนัน

นางสาวศรีไพร นนทรี ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่คนทำงานในโรงงานไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ แต่แรงงานก็ไม่ได้รับการเยียวยา และเข้าถึงการรักษาได้ลำบาก โดยเฉพาะมาตรการของบางโรงงาน ที่นายจ้างออกข้อกำหนดว่า คนที่ติดเชื้อมาจากข้างนอก จะถูกตีเป็นการลาป่วยทั่วไป ไม่ใช่การลาป่วยพิเศษจากโควิด-19 มีผลต่อการปรับขึ้นโบนัส เบี้ยขยัน ที่น้อยลงหรือไม่ได้รับเลย ทำให้แรงงานเกิดความกังวล

นางสาวศรีไพร กล่าวต่อว่า มีการคาดการณ์ว่า สงกรานต์ปีนี้ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 น่าจะเพิ่มขึ้นและหนักว่าช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จึงเกิดคำถามต่อว่า ถ้าหากลูกจ้างกลับมาแล้วติดเชื้อ บริษัท หรือรัฐจะมีวิธีการจัดการไม่ให้เชื้อแพร่กระจายต่อไปได้อย่างไร เรามีความกังวลว่าถ้ารัฐประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ภาพรวมสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ เพราะจะต้องส่งผลกระทบต่อสิทธิแรงงานหลายข้อที่จะถูกลดลงไป อาจส่งผลทำให้เกิดการปกปิดข้อมูลตามมา อีกทั้งต้องยอมรับว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แรงงานต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐจัดการไม่ได้ เช่น การซื้อ ATK หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์  ซึ่งส่วนนี้เป็นภาระค่าใช้จ่ายที่แรงงานต้องแบกรับเพิ่ม อยากให้รัฐให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และเข้ามาดูแลเราอย่างจริงจังมากขึ้น

นางสาววรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า เริ่มทดลองทำ Home Isolation โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลปิยะเวท มีการจัดองค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จนสามารถรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านได้สำเร็จ ความเข้าใจเกี่ยวกับโควิด-19 นั้น ชุมชนที่ผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้จะค่อนข้างมีความเข้าใจ แต่บางชุมชนมีความรู้ แต่เป็นความรู้ปนความกลัว เพราะรับสารจากสื่อหลายแห่ง โดยเฉพาะการบอกว่าโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น พบว่าหลายคนยังเข้าใจไม่มากพอ กลัวเสียเงิน หรือต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิเท่านั้น จึงเสนอให้ภาครัฐสื่อสารและเตรียมความพร้อมให้ประชาชน โดยมีทิศทางและมาตรการที่ชัดเจน เช่น การดูแลและป้องกันตัวผ่านสื่อที่น่าเชื่อถือ การรักษาตามระดับอาการ เช่น สีเขียวอยู่บ้าน สีเหลือง สีแดงสามารถเข้าโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะลองโควิด รวมทั้งออกระเบียบบังคับตรวจ ATK ในสถานการณ์ที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดภาระแรงงานและประชาชนในการซื้ออุปกรณ์มาตรวจ

โควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิต เราผ่านอุปสรรค ความยากลำบากต่าง ๆ จนเกิดการเรียนรู้ และกลายเป็นความปกติใหม่ที่เราต้องปรับตัวให้อยู่กับโรคนี้ให้ได้ สสส. จะยังคงทำหน้าที่สื่อสาร สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในการดูแลและป้องกันโควิด-19 อย่างถูกต้อง รวมทั้งการดูแลสุขภาวะในทุกมิติ เพื่อให้ทุกคนรู้ รับ ปรับตัว พร้อมที่จะใช้ชีวิตและก้าวไปข้างหน้าต่อด้วยกัน

ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเกิดวิกฤตใดก็ตาม หากเรามีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งมีมาตรการในการรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่าง ๆ ไปได้อย่างแน่นอน
1650451322603.jpg 

1650451332435.jpg

1650451339142.jpg

หมวดหมู่บทความ
เรื่องล่าสุด
 
 
ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ
อาคารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ชั้น 6-7 เลขที่ 21/12 ถนนรางน้ำ แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์ : 02-298-0144 โทรสาร : 02-298-0143
อีเมล : quitline1600@thailandquitline.or.th, quitline1600@hotmail.com web site: www.thailandquitline.or.th